fbpx
Saturday, 31 August 2024

ไทรอยด์ รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับไทรอยด์ ไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์อักเสบ ไทรอยด์ต่ำ มะเร็งไทรอยด์เกิดจาก อาการ การรักษา

ก่อนที่เราจะมาดูว่าคอพอกธรรมดา (simple goiter) คอพอกเป็นพิษ(toxic goiter/hyperthyroidism /graves’ disease) ต่อมไทรอยด์อักเสบ (thyroid it’s) มะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer) และ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism) มีอาการ และการรักษาอย่างไร เรามาเริ่มดูก่อนว่าต่อมไทรอยด์ คืออะไร

ต่อมไทรอยด์ คือ ต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ที่คอด้านหน้า ต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย รูปร่างเหมือนเกือกม้า ประกอบด้วยปีกซ้ายและปีกขวา เชื่อมต่อกันด้วย คอคอด(isthmus) ปกติะมีขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย และมองเห็นไม่ชัดเจน

ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ สร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone) หรือ ไทร็อกซีน (thyroxine) โดนที่มีไอโอดีนจากอาหารที่ทานเข้าไปเป็นวัตถุดิบ และมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ชื่อว่า ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (thyroid stimulating hormone เรียกย่อว่าTSH) เป็นตัวที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์

ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญมากเนื่องจากออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆในร่างกายทำงานปกติ ถ้าร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากผิดปกติ ทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษ คอพอกเป็นพิษ หากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป ทำให้ร่างกายเฉื่อยชา ทำให้เกิดโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism) แต่ถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์ตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กเติบโตไม่ดี ตัวเตี้ย ปัญญาอ่อน เรียกว่าเด็ดเครติน (cretin)  หรือโรคเอ๋อ

ปกติต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง คือ ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ต่อมใต้สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ต่อมใต้สมองก็จะลดการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้มต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง

โรคต่อมไร้ท่ออีกโรคหนึ่งที่รู้จักกันดี เป็นโรคยอดนิยมเลย คือโรคเบาหวาน

คอพอกธรรมดา (Simple goiter)

คือ อาการที่ต่อมไทรอยด์บริเวณคอหอยบวมโต คลำได้เป็นก้อน โดยที่เวลากลืนน้ำลายก้อนจะขยับขึ้นลง

สาเหตุของคอพอกธรรมดา

1.การขาดธาตุไอโอดีน เกิดจากการทานเกลือทะเล และอาหารทะเลน้อย เมื่อร่างกายขาดไอโอดีน ก็จะทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ที่ถูกฮอร์โมน กระตุ้นไทรอยด์ (TSH) กระตุ้นจนทำให้ต่อมไทรอยด์โตมากขึ้น จนกลายเป็นคอพอก

2.เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มักพบในผู้หญิงที่เรื่มเข้าสู่วัยรุ่นหรือตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยดี หรือ thyroxine มากขึ้น ต่อมไทรอยด์เลยทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เป็นคอพอก ที่

ไม่ได้เกิดจากการขาดไอโอดีน เรียกว่าคอพอกสรีระ (physiologic goiter)

3.เกิดจากการทานยา เช่น พีแอเอสและ เอทิโอนาไมค์,เฟนิลบิวตาโซน ,ลิเทียม

อาการของคอพอกธรรมดา

ผู้ป่วยจะมีอาการปกติ ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ไม่อ่อนเพลีย ไม่เหนื่อยง่าย น้ำหนักไม่ลด แต่มีก้อนที่คอโตมากๆ อาจทำให้หายใจลำบาก หรือกลืนลำบาก

การรักษาคอพอกธรรมดา

1.คอพอกประจำถิ่น ให้กินเกลือไอโอดีน หรือ ยาไอโอไดด์ ถ้าคอโตมากๆ หรือมีอาการหายใจหรือกลืนลำบาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดออก

2.คอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ถ้าคอโตไม่มากไม่ร้องรักษา แต่ถ้าคอโตมาก หมอจะจ่ายยาก eltroxin ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ซึ่งต้องกินนานเป็นปีๆ ก็จะช่วยให้คอยุบได้

3.หากเกิดจากยา ควรให้หยุดยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นก่อน ก็จะทำให้คอยุบไปเองได้

คอพอกเป็นพิษ (Toxic goiter/ Hyperthyroidism/Graves’disease)

คือ ภาวต่อมไทรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆในร่างกาย

คอพอกเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ทุกเพศ ทุกวัยด้วย แต่พบมากในช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปี  และจะเจอผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนะคะ

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน เกิดจาก

ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมากจากโรคเกรฟส์ (Graves’disease)

ส่วนน้อย อาจเกิดจาก

  • ปุ่มเนื้องอกไทรอยด์เป็นพิษ (toxic multinodular goiter) ซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ
  • ครรภ์ไข่ปลาอุก จะมีการสร้างฮอร์โมน HCG ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมไทรอยด์อย่างอ่อน
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์

และที่สำคัญโรคนี้ไม่ได้เกิดจากการกินอาหารที่มีไอโอดีนมากเกินไป

สาเหตุของคอพอกเป็นพิษ หรือ hyperthyroidism

จริงๆแล้วสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า

1.เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง  หรือ autoimmune หมายถึงร่างกายมีการสร้างแอนติบอดี้ต่อต่อมไทรอยด์ เรามีชื่อเรียกเฉพาะของโรคนี้ว่า Graves’disease

2.กรรมพันธุ์

3.ความเครียดทางใจ

อาการของคอพอกเป็นพิษ หรือ hyperthyroidism

1.มีอาการคอพอก คลำดูมีก้อนที่คอด้านหน้าอาจจะมีก้อนทั้งสองข้างหรือข้างเดียว แต่บางคนอาจจะไม่เห็นคอโตชัดเจน

2.เหนื่อยง่าย

3.อ่อนเพลีย

4.มือสั่น ลองเช็คดูให้ยื่นมีไปข้างหน้าทั้งสองข้าง ขนานกับพื้น และกางนิ้วออก หากเห็นไม่ชัดว่าสั่นหรือไม่ให้เอากระดาษวางไว้บนมือนะคะ

5.นอนไม่หลับ

6.ใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วประมาณ 100-130 ครั้งต่อนาที และอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ

7.ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย

8.น้ำหนักตัวลดลงรวดเร็ว เพราะร่างกายมีการเผาผลาญมากขึ้น

9.หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย

10.บางคนถ่ายเหลวบ่อย หรืออาจจะคลื่นไส้อาเจียน

11.บางคนอาจจะกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาไม่มีแรง กลืนลำบาก หรืออัมพาตครั้งคราวจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

12.ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดแต่ไม่ได้ตั้งครรภ์

13.บางคนอาจจะตาโปน และฝ่ามือแดง

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครมีอาการตามนี้ สงสัยว่าจะใช่คอพอกเป็นพิษหรือไม่ แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลนะคะ หรืออย่างน้อยตรวจเลือดเช็คไทรอยด์ก่อนนะคะ

หากไม่รักษาอาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหากตาโปนมากๆอาจจะทำให้กระจกตาดำเป็นแผล และสายตาพิการได้

หากเป็นรุนแรงมากมักเกิดจากภาวะเครียด โรคติดเชื้อ หรือขณะผ่าตัดฉุกเฉิน อาจจะทำให้เกิดภาวะวิกฤตจากต่อมไทรอยด์ (thyroid crisis) อาการจะมีไข้สูง หัวใจเต้นเร็วมาก ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียน เกิดภาวะขาดน้ำ อาจช็อคได้ ถ้ารักษาไม่ทัน

การรักษาคอพอกเป็นพิษ หรือ hyperthyroidism

หากสงสัยว่าเป็นคอพอกเป็นพิษ หรือไทรอยด์เป็นพิษ ควรจะต้องเจาะเลือดดูค่า T4และT3 ซึ่งมักจะสูงกว่าปกติ และค่า TSH ต่ำ และอาจจะต้องสแกนต่อมไทรอยด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด

ส่วนการรักษาโดยใช้ยาจะมีอยู่ 2 ตัวซึ่งทำหน้าที่กดการทำงานของต่อมไทรอยด์ หมอจะจ่ายยาให้อย่างใดอย่างหนึ่งนะคะ และมีการนัดเพื่อปรับยานะคะ

1.methimazole 5 mg ห้ามใช้ในคนท้อง

2.propylthiouracil 50 mg ใช้ในคนท้องและแม่ให้นมได้ เพราะผ่านรกได้น้อยกว่า methimazole แต่ควรที่จะทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ของทารกเป็นระยะๆ

และต้องตรวจเลือดดูระดับไทรอยด์เป็นระยะ ส่วนใหญ่แล้วมักจะหายขาด บางคนที่อาการกำเริบก็ให้กลับมาทานยาใหม่ บางคนอาจจะกินยาควบคุมวันละ  1เม็ด คุมอาการไปเรื่อยๆ

หากมีอาการใจสั่นต้องทานยา propranolol วันละ 40-120 มิลลิกรัมต่อวัน อาจจะแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง และให้ทานวิตามินบีรวมร่วมด้วย

ส่วนหากการรักษาโดยใช้ยาไม่ได้ผล หรือไม่สะดวกอาจจะต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือให้กินน้ำแร่ซึ่งเป็นกัมมันตรังสีทำงายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์บางส่วน แต่การผ่าตัดอาจทำให้เป็นต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อย และยังอาจตัดถูกเส้นประสาทกล่องเสียงทำให้เสียงแหบได้

ต่อมไทรอยด์อักเสบ(thyroiditis)

ต่อมไทรอยด์อักเสบ มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง และแต่ละสาเหตุมีอาการและการรักษาอย่างไรบ้าง

1.ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส

เกิดจาก การติดเชื้อไวรัส เช่นไวรัสจากคางทูม

อาการ ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส

-เจ็บคออาจร้าวไปถึงหู ขากรรไกร แขน และหน้าอก

-กลืนลำบาก

-ต่อมไทรอยด์โตขึ้นเร็วและกดเจ็บ

-อาจมีไข้ต่ำๆ

-อาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยร่วมด้วย ส่วนมากจะกลับเป็นปกติในที่สุด

การรักษา ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส

-ให้ยาแก้ปวดลดอักเสบ (NSIDs) เพื่อลดอาการอักเสบ หากเป็นรุนแรงอาจจะต้องใช้เพร็ดนิโซโลน

-ถ้ามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน หรือคอพอกเป็นพิษ มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายให้ทานยา propranolol 10-40 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง

-ถ้ามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย อาจต้องให้ทาน eltroxin

2.ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากออโตอิมมูน (autoimmune thyroiditis/Hashimoto’s thyroiditis)

สาเหตุต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากออโตอิมมูน

ปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง ส่วนใหญ่จะมีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคด้วย

อาการต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากออโตอิมมูน

-คอโต ซึ่งจะโตแบบช้าๆ ค่อนข้างแข็ง และกดไม่เจ็บ

-มักจะมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยตามมา

-โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ตรวจเลือดมักพบแอนติบอดีต่อต่อมไทรอยด์

-อาจตรวจพบโรคตับอักเสบเรื้อรัง ,SLE, โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ,เบาหวาน,โรคแอดดิสัน,ผมร่วงเป็นหย่อมโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากออโตอิมมูน

-ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย หรือคอโตมาก ให้กิน Eltroxin

-หากต่อมไทรอยด์ทำงานปกติ ควรจะตรวจเลือดเป็นระยะ ส่วนมากหลายปีต่อมามักจะพบภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

3.ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ

อาการ ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ

-คอโต เป็นก้อนแข็ง ติดแน่นกับเนื่อเยื่อโดยรอบ

-เสียงแหบ

-กลืนลำบาก

-หายใจลำบาก

-บางคนต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยด้วย หรืออาจมีต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยร่วมด้วย

การรักษา ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ

-ในคนที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ให้กิน Eltroxin

-ในคนที่มีก้อนโตมากจนหายใจลำบาก กลืนลำบาก อาจจะต้องผ่าตัด

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

เป็นโรคที่พบได้น้อย ส่วนใหญ่จะเจอในคนที่เคยฉายรังสีที่คอมาก่อน อาจมีประวัติคนในครอบครัวเป็นด้วย

แบ่งเป็น 3 ชนิด

1.ชนิด papillary เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งมักโตช้า รุนแรงน้อย ถ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 เซนติเมตร หลังการผ่าตัดจะมีโอกาสหายขาด

2.ชนิด follicular มักจะพบในผู้สูงอายุ ถ้ารุนแรงมากอาจจะลามไปสู่ปอด กระดูกและสมอง และบางครั้งทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน

3.ชนิด medullary

4.ชนิด anaplastic

ชนิดที่ 3,4 มักพบในผู้สูงอายุ มีความรุนแรงสูง ก้อนมะเร็งโตเร็วและแพร่กระจายง่าย

อาการ มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

-คอโตเป็นก้อนแข็งๆ อาจจะเป็น้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนก็ได้ ผิวไม่เรียบ ติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ ขยับไปมาไม่ค่อยได้ และไม่มีอาการเจ็บปวดทอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตด้วย

-บางคนมีอาการเสียงแหบ

-ก้อนโตเร็ว อาจกดหลอดลมหรือหลอดอาหาร ทำให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก

-ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต่อมไทรอยด์ยังทำงานได้ปกติ

การรักษา มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

-สแกนต่อมไทรอยด์ และต้องเจาะเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งต้องผ่าตัดออก

-หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องกิน ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต

ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism)

คือภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ พบได้กับคนทุกวัย แต่พบมากในผู้หญิงวัยกลางคน

อาการภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

ในผู้ใหญ่ อาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเดือน เป็นปีนะคะ

1.หน้าและหนังตาบวม

2.เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

3.เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้าและ reflex delay

4.ผมบางและหยาบ ขนคิ้วร่วง

5.ผิวหนังหยาบ แห้ง และเย็น มือเท้าเย็น

6.ชีพจรเต้นช้าอาจต่ำกว่า 50ครั้งต่อนาที

7.ซีด

8.ลิ้นคับปาก

9.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

10.กล้ามเนื้อเป็นตะคริว

11.ลำไส้มักจะเคลื่อนไหวช้า

12.ท้องผูกเป็นประจำ

13.อ้วนขึ้นถึงแม้จะกินน้อยลง

14.รู้สึกขี้หนาว ชอบอากาศร้อน

15.อาจเสียงแหบ และ หูตึง เนื่องจากมีสารเมือกmucopolysaccharide สะสมที่กล่องเสียง ประสาทหู

16.ชาปลายมือ เนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น และมีการสะสมสาร mucopolysaccharide ที่ช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน

17.บางคนอาจจะไม่มีความรู้สึกทางเพศ

18.ถ้าผู้หญิงจะมีประจำเดือนออกมามาก

19.อาจจะมีอาการคอโตหรือไม่ก็ได้

14.ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการซึมจนหมดสติ เรียกว่า myxedema coma ซึ่งมักจะเกิดจากจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งกระตุ้นเช่น ถูกความเย็นมากๆ  หรือ ได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นโรคติดเชื้อ หรือ ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก ( nacotic)

ในทารกแรกเกิด

1.ซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นมากินนม

2.มักจะมีอาการเสียงแหบ

3.ท้องผูกบ่อย

4.มีอาการดีซ่านนานกว่าปกติ

5.ลิ้นโตคับปาก

6.สะดือจุ่น

7.ซีด ดีซ่าน

ในเด็ก

1.เจริญเติบโตช้า

2.ฟันขึ้นช้า

3.ผิวหนังหยาบแห้ง

4.ขี้หนาว

5.กินไม่เก่ง

6.เฉื่อยชา

ถ้าไม่รักษาเด็กจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ เรียกว่าเด็กเครติน

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเด็กเครติน ควรจะมีการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) ทารกแรกเกิดทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคนี้

อาการแทรกซ้อน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

1.อาจทำให้หัวใจโต หัวใจวาย

2.ติดเชื้อง่าย

3.เป็นหมัน แท้งลูกง่าย

4.เป็นโรคจิต

5.ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

6.ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ

7.ในทารก อาจจะทำให้ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อน

การรักษา ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

1.เริ่มจากการตรวจเลือดดูก่อนนะคะ หากเป็นต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย hypothyroidism จะพบว่าฮอร์โมนไทร็อกซีนต่ำกว่าปกติ ,ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับน้ำตาล และโซเดียมในเลือดต่ำ

2.เอกซเรย์ อาจพบว่ามีภาวะหัวใจโต เนื่องจากมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด

3.รักษาโดยกินยา eltroxin วันละ 1-3 เม็ดทุกวัน อาการจะดีขึ้นเพียงไม่กี่วัน และร่างกายจะกลับเป็นปกติเพียงไม่กี่เดือน แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต หากขาดยาอาการจะกำเริบใหม่

ส่วนในทารก ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ 1 เดือน ก่อนที่มีอาการชัดเจน เด็กสามารถเติบโตเป็นปกติทั้งร่างกายและสมองได้ แต่เด็กจะต้องกินยาทุกวัน ห้ามหยุดยา

อาหารสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

ไข่ดัน

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

หน้าร้าน : https://g.page/rukya8?share

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

ติดต่อได้เลยค่ะ