fbpx
Monday, 30 September 2024

แตนทะเลสาเหตุลงน้ำทะเลแล้วคัน มีผื่น เกิดจากอะไร ปฐมพยาบาล รักษายังไง

มีใครเคยไปเที่ยวทะเลแล้วมีผื่นขึ้น และมีอาการคันหลังจากที่ขึ้นจากทะเลรึเปล่าคะ?

ผื่นแพ้คันหลังลงน้ำทะเล(Sea Bather’s Eruption) เป็นภาวะอาการแพ้คันทางผิวหนังที่ส่งผลต่อผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเลโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เป็นที่รู้จักกันว่า “แตนทะเล

แตนทะเล

อาการนี้เกิดจากปรสิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่าตัวอ่อนของแมงกะพรุน ซึ่งพบได้ทั่วไปในน้ำทะเลในบางช่วงเวลาของปี เมื่อแมงกะพรุนเหล่านี้สัมผัสกับผิวหนังคน เข็มพิษเล็กๆของมันจะฉีดพิษเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันและแสบร้อนได้

 

อาการของ การโดนแตนทะเล ได้แก่ อาการคันและเกิดผื่นที่มีตุ่มเล็กๆหรือตุ่มแดง ผื่นอาจขึ้นที่ส่วนใดก็ได้ของร่างกายที่สวมชุดว่ายน้ำ ชุดเวทสูท หรือเสื้อชูชีพ แต่มักพบที่ลำตัว แขน และขา ในบางกรณี อาการคันและผื่นอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายวันหลังจากสัมผัสกับน้ำทะเลที่ปนเปื้อนแตนทะเล

วันนี้หมอยาอยากเล่ามีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงเลยนะคะ

” โบว์พึ่งกลับมาจากไปเที่ยวเกาะช้าง ดำน้ำดูปะการัง ตอนจังหวะลงจากเรือโบว์รู้สึกว่าเหมือนมีอะไรมาโดนที่แขนคันยิบๆขึ้นมาทันทีเลยค่ะ รู้สึกเลยว่าต้องโดนพิษแตนทะเล หรือว่าพิษแมงกะพรุนสักอย่างแน่ๆ แต่อาการมันหายไปหลังจากที่เราพยายามว่ายหนีออกจากบริเวณนั้น ดำน้ำให้อาหารปลาจนหนำใจ ก็ขึ้นเรือ ล้างน้ำจืดตามปกติ อาการคันและผื่นยังไม่มีนะคะ แต่พอตอนเย็น เริ่มที่จะมีผื่นขึ้นเกาะกันเป็นแนวยาวเหมือนลักษณะหนวดแมงกะพรุน และมีอาการคัน แต่ก็ไม่ได้คันมากและด้วยความเหนื่อยจึงนอนหลับไป พอตอนเช้าเท่านั้นแหละค่ะ ผื่นเริ่มเห็นชัด และมีรอยเกาเป็นแผลน่าจะคันตอนนอนหลับไปและเกาโดยไม่รู้ตัว (จริงๆแล้วทุกครั้งที่ลงทะเลโบว์จะใส่ชุดว่ายน้ำที่ปิดคอและขายาว แขนยาว และก็ไม่เคยโดนพิษแตนทะเล หรือแมงกะพรุนทะเลเลยสักครั้ง ครั้งนี้ชุดว่ายน้ำเปียกจากวันก่อนและยังไม่แห้ง ไม่อยากใส่เปียกๆขึ้นรถ เลยใส่เสื้อยืดกับกางเกงขาสั้นละกัน เพราะเคยใส่ตอนเด็กๆก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรหนิ แต่ครั้งนี้ดันไม่รอดซะแล้ว)”

 

                หากรู้สึกว่าโดนพิษแตนทะเล ควรรีบใช้น้ำทะเล หรือน้ำส้มสายชูล้างพิษ หากหาผักบุ้งทะเลได้ให้เอาผักบุ้งทะเลขยี้ๆผสมกับน้ำส้มสายชูและห่อกับผ้าขาวบางประคบบนบริเวณที่โดนแตนทะเลหรือพิษแมงกะพรุนนะคะ ไม่ใช่น้ำจืดเพราะน้ำจืดจะทำให้พิษกระจายมากขึ้นนะคะ และควรที่จะทานยาแก้แพ้ และทายาแก้แพ้ แก้คันเลยเมื่อมีอาการ ไม่งั้นจะเผลอเกาจนเป็นแผลและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้นะคะ

วิธีปฐมพยาบาล

หากโดนพิษแตนทะเล แตนทะเลกัด หรือโดนพิษแมงกะพรุน 

1.รีบขึ้นจากน้ำทะเลทันที ถอดเสื้อผ้าออกหากทำได้ และใช้น้ำทะเล น้ำส้มสายชูล้าง  จะดีกว่าน้ำจืดนะคะ

2.ไม่ถู หรือเกาบริเวณผื่นหรือที่คันนะคะ

3.วิธีที่จะช่วยลดพิษจากแตนทะเลคือทาผื่นด้วยน้ำส้มสายชูเจือจางหรือใช้แอลกอฮอลล์ทาแผลเช็ดได้เลย

4.ประคบเย็นหากมีความรู้สึกปวด แสบ ร้อน บริเวณที่โดนแตนทะเลกัด

หากโดนแตนทะเลกัดและพิษแมงกะพรุน รักษายังไง?

1.หลังจากโดนแตนทะเลกัดหรือพิษแมงกะพรุนให้เราปฐมพยาบาลตามวิธีที่แนะนำด้านบนเลยนะคะ

2.ให้รักษาตามอาการ เริ่มจากยาทาแบบสเตียรอยด์จะใช้เป็นตัวไหนก็ได้ขึ้นกับความรุนแรงของรอยผื่นที่โดนแตนทะเลกัด หรือบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนเลย แต่ก่อนที่ใช้ยาแนะนำว่าต้องไม่แพ้ยาหรือส่วนประกอบในยานะคะ ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยานะคะ

  • หากเป็นบริเวณหน้าหรือบริเวณที่ผิวบอบบางหรือในเด็กควรจะใช้สเตียรอยด์แบบอ่อนเช่น
  1. 1-2% hydrocortisone cream
  2. 5% Prednisolone
  3. Triamcinolone acetonide 0.02% 
  • หากเป็นบริเวณตัว แขนควรจะใช้สเตียรอยด์แบบปานกลางเช่น
  1. Betamethasone dipropionate 0.05% 
  2. Triamcinolone acetonide 0.1% 
  3. Mometasone furoate 0.1%
  4. Betamethasone Valerate 0.1%
  5. Prednicarbae 0.1%
  • หากเป็นบริเวณที่ผิวหนังหนา เช่นเท้า หรือใช้สเตียรอยด์แบบอ่อน ปานกลางแล้วไม่หาย ควรจะใช้สเตียรอยด์แบบแรงเช่น

1.Clobetasone propionate 0.05% 

2.Desoximetasone 0.25% 

ยาทาสเตียรอยด์ทุกตัวไม่ควรทาต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน

 

ส่วนหากแพ้คันมากแนะนำทานยาแก้แพ้ Antihistamine ร่วมด้วยได้นะคะ จะใช้ตัวยาไหนก็ได้ค่ะ เช่น

1.Cetirizine dihydrochloride 10 mg 

2.Loratadine 10 mg 

3.Fexofenadine Hydrochloride 60mg ,180 mg 

4.Levocetirizine Dihydrochloride 5 mg

 

การป้องกันการโดนแตนทะเล

สิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในบริเวณที่แมงกะพรุนชุกชุม โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว การสวมชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวหรือเวทสูทสามารถช่วยปกป้องผิวหนังจากการสัมผัสกับตัวอ่อนแมงกะพรุนเหล่านี้ได้ 

แต่หากคุณมีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อแตนทะเล (Sea Bather’s Eruption) เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ สิ่งสำคัญคือต้องไปพบแพทย์ทันที ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย

เภสัชกร

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

youtube https://www.youtube.com/channel/UCVFagi33TD86ZSaWsPUXwew

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

ติดต่อได้เลยค่ะ