fbpx
Friday, 27 September 2024

วิธีการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกชนิดรุนแรงน้อยในร้านยา

28 Feb 2020
11225

สวัสดีค่ะ วันนี้หมอยาอยากเล่าอยากจะมาแนะนำวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยแผลไหม้ น้ำร้อนลวกชนิดรุนแรงน้อยที่สามารถหาซื้อยาและดูแลตัวเองที่บ้านได้นะคะ

            แต่ก่อนอื่นโบว์ขอเกริ่นสาเหตุของแผลไหม้ก่อนนะคะ แผลไหม้เกิดได้จาก 4 สาเหตุหลักๆนะคะ

  1. ความร้อน แบ่งได้เป็น

ความร้อนแห้ง ได้แก่ การสัมผัสเปลงไฟหรือประกายไฟโดยตรง การสำลักควัน

ความร้อนเปียก ได้แก่ น้ำร้อน ไอน้ำร้อน หรือน้ำมันร้อน

  1. สารเคมี เช่น กรด หรือ ด่าง

3.กระแสไฟฟ้า ความรุนแรงจะขึ้นกับชนิดและปริมาณของกระแสไฟฟ้า

4.รังสี เช่น สารกัมมันตรังสี ระเบิดปรมาณู หรือถูกแดดเผาเป็นเวลานาน

            การปฐมพยาบาลแผลไหม้เบื้องต้น มีหลักการสำคัญ 2 อย่างคือ หยุดกระบวนการบาดเจ็บ และทำให้แผลเย็นลง

1.นำผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่สัมผัสกับความร้อนออกจากตัวผู้ป่วย

2.สอบถามสาเหตุที่เกิดแผลไหม้

3.ล้างแผลผ่านน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือที่อุณหภูมิห้อง (ไม่ต้องน้ำเย็น) ต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที หากเป็นแผลไหม้จขากสารเคมีแนะนำให้ล้างผ่านน้ำต่อเนื่อง 1-2 ชั่วโมง

4.พยายามรักษาอุณหภูมิร่างกายบริเวณอื่นที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน

            เกณฑ์ในการพิจารณาแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย

1.แผลไหม้ระดับแรก คือทำลายเฉพาะชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผิวหนังจะมีสีชมพูหรือแดง มีความนุ่ม ไม่มีตุ่มพอง มีอาการปวดแสบ แผลหายได้เองภายใน 7 วัน แผลไหม้ระดับนี้ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็น

2.แผลไหม้ระดับที่สองหรือสามที่มีขนาดแผลไหม้ไม่เกิน 20% TBSA หากผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 10 ปี หรือมากกว่า 50 ปี แผลไหม้ระดับที่สองหรือสามที่มีขนาดแผลไหม้ไม่เกิน 5% TBSA

(%TBSA คำนวณโดยแบ่งส่วนของร่างกายเป็นส่วนละ 9% แต่ถ้าแผลกระจัดกระจายอาจประมาณโดยใช้ฝ่ามือ คือ 1 ฝ่ามือผู้ป่วยรวมนิ้วมือจะมีพื้นที่เท่ากับ 1% TBSA)

3.แผลไหม้ไม่ได้อยู่บริเวณอวัยวะสำคัญ ได้แก่ รอยต่อ หรือ จุดเชื่อมข้อที่สำคัญ ใบหน้า หู มือ เท้า

4.ผู้ป่วยไม่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นกระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือสูดดมควันเข้าไปจำนวนมาก

            แนวทางการรักษาแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย

1.ทานยาแก้ปวดเช่นพาราเซตามอลหรือหากปวดมากให้ทานยากลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen แต่หากเพื่อนๆจะซื้อทานต้องสอบถามเภสัชกรที่ร้านยาก่อนนะคะ เพื่อซักประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัวนะคะ

2.ล้างทำความสะอาดแผลไหม้ด้วยน้ำยาทำความสะอาดแผลที่เหมาะสม เช่น

-น้ำเกลือให้ใช้สำหรับทำความสะอาดบริเวณแผลไหม้โดยตรง

-แอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว้าง รวมถึง วัณโรคและไวรัสบางชนิด ฆ่าเชื้อได้เร็วภายใน 30-60 วินาที แต่แนะนำให้เช็ดแค่รอบบาดแผล เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถกัดทำลายเนื้อเยื่อแผลได้ค่ะ

-สารละลายโพวิโดน ไอโอดีน หรือที่เรารู้จักกันก็คือยี่ห้อเบตาดีน สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และ ไวรัสได้ แต่ไม่ควรใส่ในแผลไหม้ เนื่องจากทำลายเนื้อเยื่อและอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง

3.กำจัดตุ่มพอง หากตุ่มพองมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไม่แนะนำให้ตัดหรือเปิดออก  แต่หากว่าขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร ตัดหรือทำให้ตุ่มพองแตกออกได้อต่ต้องระวังแผลติดเชื้อ อาจต้องให้ยาแก้ปวดก่อนทำนะคะ

4.ทายาสำหรับแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย

-ว่านหางจระเข้ จะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยให้แผลหายเร็วและลดการอักเสบ แต่ว่านหางจระเข้ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นจึงใช้สำหรับคนที่มีแผลไหม้ระดับแรกหรือระดับสองที่มีแผลตื้นขนาดไม่ใหญ่และเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อย

-Moist expose burn ointment (MEBO) เหมาะกับแผลไหม้ระดับแรก แผลไหม้ที่ใกล้หาย แผลไหม้ที่หน้า ควรทาแผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่มีข้อเสียคือกลิ่นรุนแรง

-ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfadiazine,SSD) จัดเป็นยามาตรฐานในการรักษาแผลไหม้ เนื่องจากออกฤทธิ์กว้างฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ รวมทั้งครอบคลุมเชื้อรา Candida albicans แต่ไม่เหมาะกับทาบริเวณหน้า แนะนำให้ใช้สำหรับแผลไหม้ทุกระดับ ควรทำแผลวันละ 2 ครั้ง และหากแพ้ยากลุ่มซัลฟา หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ทารก และ ผู้ป่วย G6PD ห้ามใช้ยาตัวนี้

-Mupirocin เป็นยาขี้ผึ้งฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เหมาะกับเผลขนาดเล็ก สามารถใช้กับแผลไหม้บนหน้าได้ ทำแผลวันละ 2 ครั้ง

– Sodium fusidate เหมาะสำหรับผู้ที่ดื้อต่อยาทาซิลเวอร์ไดอะซีน ทำแผลวันละ 2 ครั้ง

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

ไข่ดัน

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

ติดต่อได้เลยค่ะ