fbpx
Sunday, 29 September 2024

ลูกอ้วก ท้องเสีย มีไข้ เกิดจากอะไร โรต้าไวรัส โนโรไวรัส

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเชื้อที่ส่วนใหญ่ทำให้ลูกท้องเสียที่พบมากจนบางคนต้องไปนอนโรงพยาบาลกันนะคะ

                เชื้อโรคที่ทำให้ลูกท้องเสียในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชอบอากาศเย็นหรือฤดูหนาวหรือเชื้อที่ทนต่ออากาศเย็น

ไวรัสที่ทำให้ลูกท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษ มีมากมายหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อโรต้าไวรัส และ โนโรไวรัส

เด็กที่เคยติดเชื้อโรต้าไวรัส และ โนโรไวรัส เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ ทั้งโรต้า และโนโรไวรัสเป็นแล้วสามารถเป็นได้อีก ต่างกันที่ โรต้าไวรัสหากเป็นแล้วความรุนแรงในการเป็นจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นในเด็กโตและผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยแสดงอาการของโรค ส่วนโนโรไวรัส การเป็นซ้ำอาการไม่ได้ลดลง จึงพบโรคนี้ในผู้ใหญ่และเด็กมีอาการไม่ต่างกัน

เชื้อโรต้าไวรัสและโนโรไวรัสติดต่อกันได้ง่ายมากในฤดูหนาว เพราะเชื้ออยู่ได้ทนในอากาศเย็น

การติดต่อ

โรต้าไวรัสติดต่อกันได้ง่ายจากที่เราสัมผัสเชื้อมีขนาดเล็กมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าโดยอาจปนเปื้อนอยู่ที่สิ่งของ เมื่อเด็กจับแล้วเอามือเข้าปากก็สามารถรับเชื้อได้ เชื้อตัวนี้ค่อนข้างทน มีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน  นั่นก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะพบเด็กวัยเริ่มเข้าอนุบาลจะท้องเสียจากเชื้อโรต้าไวัสและเข้าไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกันเยอะมาก

 อาการของโรค         

  •  โรต้าไวรัส  (อาการมักแสดงในเด็ก  6 เดือน – 2ปี)  มีไข้สูง อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ตามด้วยอาเจียน อาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน เด็กบางคนอาจมีอาการท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง เป็นเพียง 3-5 วันอาการจะดีขึ้นขึ้น
  • โนโรไวรัส   (อาการคล้ายกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่)  ไข้น้อยกว่าติดเชื้อโรต้าไวรัส ตามด้วยอาเจียนคล้ายอาหารเป็นพิษ   ปวดมวนท้อง และท้องเสีย

          การติดเชื้อทั้งสองชนิดอาจมีอาการรุนแรงจากการขาดน้ำและเกลือแร่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

การดูแลรักษา

เนื่องจากลูกท้องเสียจากไวรัส จึงไม่มียาจำเพาะในการรักษา ดังนั้นเราทำได้แค่การรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ก็ทานพาราเซตามอล มีอาเจียนให้ยาแก้อาเจียน ให้เกลือแร่แบบซองละลายน้ำ ค่อยๆจิบเพื่อป้องกันการขาดน้ำ อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด โดยเด็กที่ติดเชื้ออาจต้องใช้เวลารักษาในโรงพยาบาล 2-5 วัน ทารกและเด็กเล็กอาจใช้เวลานานกว่า เด็กเล็กที่มีอาการท้องเสียยืดเยื้อจากการดูดซึมน้ำตาลแลคโตสที่อยู่ในนมไม่ได้ ก็ต้องทำให้ทานนมที่มีน้ำตาลแลคโตสต่ำ หรือไม่มีน้ำตาลแลคโตสช่วงระยะเวลาหนึ่ง รอให้เยื่อบุลำไส้ฟื้นตัวก็กลับมาทานนมปกติได้ ไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ

การวินิจฉัยในโรงพยาบาล

ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาล หากผู้ป่วยเด็กเล็ก มีอาการไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ทางโรงพยาบาลจะใช้ชุดตรวจโรต้าไวรัส ซึ่งมีความไวและจำเพาะสูง ถึงจะใช้เวลาตรวจไม่ม่ากแต่เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ออกมากับอุจจาระมีมาก จึงทำให้ตรวจง่าย

การป้องกัน

ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่สุกสะอาด และหากลูกท้องเสียใส่แพมเพิส ผู้ดูแลควรจะใช้น้ำยาล้างห้องน้ำละลายให้เจือจางราดลงบนแพมเพิสก่อนทิ้งเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อก่อนทิ้งขยะก็จะช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทำความสะอาดทั้งของเล่น สนามเด็กเล่น รักษาสุขอนามัย และการให้นมแม่ และปัจจุบันมีการให้วัคซีนป้องกันท้องเสียเฉพาะโรต้าไวรัส แต่ยังเป็นวัคซีนทางเลือกไม่ได้บังคับให้ทุกคนรับวัคซีน และวัคซีนจะให้ในเด็กเล็กเท่านั้น เป็นวัคซีนแบบกิน หากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อที่ก่อโรคเฉพาะในมนุษย์ หรือวัคซีนโรต้าสายพันธุ์มนุษย์ จะให้ในทารกที่มีอายุ 6สัปดาห์ถึง 4 เดือน และต้องให้ครบชุด 2 ครั้งภายในอายุเด็ก 8 เดือน แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้แม้ได้รับวัคซีน แต่จะทำให้อาการที่เป็นลดลงหรือไม่แสดงอาการเลย

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

ติดต่อได้เลยค่ะ