fbpx
Wednesday, 4 September 2024

กรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ ห้ามทานอะไร ยารักษา แบบละเอียด

โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่เกิดจากกรด น้ำย่อยเปปซิน และน้ำดี จากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งปกติแล้วเวลาที่เราทานอาหาร อาหารจะไหลลงสู่หลอดอาหารผ่านหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและหูรูดนี้จะปิดอาหารไหลลงสู่กระเพาะอาหาร แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนเกิดจาก หูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัว ไม่ปิดกลับ อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของกรดไหลย้อนเท่านั้นนะคะ

              สาเหตุของกรดไหลย้อนมีทั้งจากทางร่างกายและจากภายนอก จากพฤติกรรม

สาเหตุของกรดไหลย้อนจากทางร่างกาย

1.ความดันของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างลดลง จึงทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ตลอดเวลา

2.การคลายตัวเป็นครั้งคราวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง หมายถึง การที่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเปิดหรือคลายตัวโดยที่ไม่มีการกลืน ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดกรดไหลย้อน

3.ความบกพร่องของหลอดอาหารในการกำจัดของเหลวที่ไหลย้อน ซึ่งเกิดจากการบีบตัวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อที่หลอดอาหาร และปริมาณน้ำลายที่ช่วยสะเทินกรดจากกระเพาะอาหารไม่เพียงพอ

4.ใช้ระยะเวลาในการบีบตัวดันอาหารจากกระเพาะอาหารสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ ทำให้มีอาหารตกค้างอยู่ที่กระเพาะอาหารนานกว่าปกติ

5.ภาวะ hiatal hernia คือการที่มีบางส่วนของกระเพาะอาหารตั้งแต่ส่วนต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารเคลื่อนที่ผ่านหูรูดกระบังลมเข้าสู่บริเวณช่องอก ทำให้ไม่มีช่องกั้นเกิดการไหลย้อนของอาหารสู่หลอดอาหาร ภาวะนี้จะทำให้มรอาการกรดไหลย้อนรุนแรง

สาเหตุของกรดไหลย้อนจากภายนอก หรือเรียกง่ายๆคือจากพฤติกรรมของผู้ป่วยนั่นเอง

1.ทานอาหารที่มีไขมันสูง นมที่มีไขมัน กาแฟ น้ำอัดลม ช็อคโกแลต โกโก้ อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยว ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ เช่นซอสมะเขือเทศ

2.น้ำหนักตัวเกิน อ้วนลงพุง เนื่องจากพุงจะมีโอกาสเพิ่มความดันบริเวณกระเพาะอาหาร มีผลให้เพิ่มความดันบริเวณส่วนต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร

3.การสูบบุหรี่

4.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพียงแค่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 7 แก้วต่อสัปดาห์ก็เพิ่มโอกาสที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้แล้ว

5.การตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารส่วนปลาย

6.กรรมพันธุ์ จากการศึกษาแฝดแท้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนเหมือนกันถึงร้อยละ 43 และแฝดเทียมร้อยละ 26

7.กินยาที่เป็นสาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ ส่วนมากคือยาแก้ปวด ลดอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen แต่ก็ยังมียาอีกหลายกลุ่มนะคะที่เป็นสาเหตุของกรดไหลย้อนได้ ยังไงลองปรึกษาแพทย์และเภสัชกรนะคะหากทานยาและมีภาวะกรดไหลย้อน

อาการของกรดไหลย้อน

1.แสบร้อนกลางอก

2.แน่นอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

3.หลอดอาหารอักเสบ พบจากการส่องกล้อง

4.หลอดอาหารตีบ พบจากการส่องกล้อง

5.Barrett’s esophagus พบจากการส่องกล้อง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารไปเป็นเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ พบว่าผู้ที่มีแผลในหลอดอาหารเสี่ยงที่จะเป็น Barrett’s esophagus ภายใน 5 ปี และจะทำให้เป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ร้อยละ 0.4-0.5 ต่อปี

6.มะเร็งหลอดอาหารชนิด adenocarcinoma พบจากการส่องกล้อง

7.ไอ หอบหืด

8.กล่องอาหารอักเสบ

9.ฟันกร่อน

10.คลื่นไส้ อาเจียน

การรักษากรดไหลย้อน

1.รักษาโดยไม่ใช้ยา

สำคัญอย่างแรกเมื่อเริ่มรู้ว่าเป็นกรดไหลย้อนจะต้องหาสาเหตุที่ทำให้เราเป็นกรดไหลย้อน และปรับพฤติกรรมนั้น พร้อมทั้งควบคุมการทานอาหารที่จะกระตุ้นให้เป็นกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน ห้ามกิน

หากใครอยากรู้ว่ากรดไหลย้อนห้ามทานอะไรบ้างคลิกอ่านเลยค่ะ

2.รักษาโดยการใช้ยา

-ยาลดกรด

เนื่องจากยามีฤทธิ์เป็นด่างจึงเข้าไปสะเทินกรดในกระเพาะอาหารทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในกระเพาะเพิ่มขึ้น   ข้อดี ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์สั้น หมดฤทธิ์เร็ว

ข้อเสีย ด้านผลข้างเคียงคือ ตัวยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซอาจทำให้ท้องผูก และ ตัวยาแมกนีเซียมไฮดร็อกไซด์อาจทำท้องเสียได้

ตัวอย่างยา Aluminuim hydroxide ,magnesium hydroxide

-ยากลุ่ม histamine H2 receptor antagonists

histamine H2 receptor antagonists ทำหน้าที่แย่งจับกับ histamine H2 receptor จึงมีผลให้ยับยั้งการหลั่งกรดไฮโดรคลอไรด์ (HCl)

ข้อเสีย คือ  ยามีผลต่อยาหลายชนิดหากใช้ร่วมกันแนะนำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้

ตัวอย่างยา famotidine

-ยากลุ่ม Proton Pump inhibitors (PPIs)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ proton pump (H+/K+-ATPase) แบบถาวร  ส่งผลให้ยับยั้งการหลั่งกรดที่สร้างจากการหลั่งของ acetylcholine และ histamine

ข้อเสีย คือ ยาอยู่ในรูปแบบ prodrug คือยาต้องไปเปลี่ยนเป็นรูปที่มีฤทธิ์ในสภาวะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร

ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เพราะยาจะไปลดการดูดซึมสารอาหาร

ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ใน ผู้ป่วยโรคไต สตรีมีครรภ์ และแม่ให้นมบุตร

ตัวอย่างยา omeprazole  ,esomeprazole , lansoprazole  ,dexlansoprazole  ,pantoprazole  ,rabeprazole

-ยากลุ่ม Potassium-Competitive Acid Blockers (P-CABs)

ยับยั้งการหลั่งกรดโดยแย่งจับ K+ binding site ของ H+/K+-ATPase บนผิวเซลล์ parietal cells โดยออกฤทธิ์สูงสุดตั้งแต่ครั้งแรกที่กิน ระยะเวลาในการออกฤทธิ์เร็ว และออกฤทธิ์ได้นานถึง 24 ชั่วโมง

อาการข้างเคียงคือท้องเสีย ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ปวดท้อง ปวดศีรษะ และอาการข้างเคียงที่รุนแรงคือผื่นเป้าธนู (erythema multiforme)

ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยา atazanavir หรือ rilpivirine เนื่องจาก vonoprazan ลดการดูดซึมยา

ตัวอย่างยา vonoprazan

-ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร และต้านการอาเจียน

อาการไม่พึงประสงค์ คือ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ ผื่น ปวดหัว หงุดหงิดฉุนเฉียว ระดับ prolactin ในเลือดเพิ่มขึ้น  คัน

ตัวอย่างยา Domperidone  ,Itropride

-อัลจิเนต

มีกลไกการออกทธิ์ คือ

1.ปกป้องเยื่อบุผิวหลอดอาหาร  ลดความเสี่ยงหฃอดอาหารอักเสบ ลดอาการกรดไหลย้อน

2.ยับยั้งการไหลย้อนของน้ำย่อยเปปซินและน้ำดี  อัลจิเนตจะสร้างชั้นแพเจลป้องกัน ไม่ให้น้ำย่อยเปปซิน และ น้ำดี ไหลย้อนกลับขึ้นไปที่บริเวณหลอดอาหารได้

3.ป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน โดยการสร้างชั้นแพเจลกดการเกิดกรดไหลย้อน และป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนหลังมื้ออาหาร

ตัวอย่างยา Alginate

ข้อดี คือคนท้องและให้นมบุตร สามารถทานได้

-ยาที่ช่วยสร้างเมือกเคลือบกระเพาะ

ฤทธิ์ของยา Sucralfate

1.ช่วยป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการถูกย่อยโดยกรดและน้ำย่อย และกระตุ้นให้มีการหลั่งโปรสตาแกลนดินจากเยื่อบุกระเพาะอาหารด้วย

2.ช่วยดูดซับน้ำดีและน้ำย่อยเปปซิน และลดการทำงานของน้ำย่อยเปปซิน

3.ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกและไบคาร์บอเนตจากเยื่อบุกระเพาะอาหาร

4.ช่วยป้องกันการทำลายชั้นที่มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ เซลล์ใหม่เกิดขึ้นแทนได้ตามปกติ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ตัวอย่างยา Sucralfate

ข้อดี คือคนท้องและให้นมบุตร สามารถทานได้

-ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยย่อยอาหารและลดกรดในกระเพาะอาหาร

จะเป็นตัวยาช่วยย่อยอาหารและบรรเทาอาการจุก เสียด แน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ เรอเปรี้ยว เนื่องจากรับประทานอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย มีกรดในกระเพาะอาหารมาก

ตัวอย่างยานี้จะเป็นยาสูตรผสม ประกอบด้วย diastase ,aluminium magnesium silicate ,sodium bicarbonate ,calcium carbonate ,thiamine mononitrate ,menthol ,ginger oil ,anise oil ,orange oil ,cinnamon oil ,clove oil ,scopolia extract

หากอ่านมาถึงตรงนี้อยากรู้วิธีการทานยาสามารถคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ

บทความอื่นๆเกี่ยวกับกรดไหลย้อน

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

youtube https://www.youtube.com/channel/UCVFagi33TD86ZSaWsPUXwew

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

ติดต่อได้เลยค่ะ