โรคอีสุกอีใสเป็นโรคไข้ออกผื่นและตุ่ม ซึ่งพบบ่อยในเด็กอาการมักไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้มีภูมิคุมกันบกพร่อง
สาเหตุของโรคอีสุกอีใส
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Varicella-Zoster Virus (VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด โดยทั่วไปมักพบการระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
การติดต่อโรคอีสุกอีใส
ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่มีการปนเปื้อนเชื้อของคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือการไอ จาม หายใจรดกัน สูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสก็มีโอกาสติดต่อไปถึงเด็กในครรภ์ได้
อาการโรคอีสุกอีใส
มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นซึ่งจะขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะเป็นผื่นแดงราบ ต่อมากลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด และค่อยๆหลุดไป กลายเป็นจุดด่างดำหรือรอยแผลเป็นได้ บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ แผลเป็นที่เกิดจากโรคอีสุกอีใส จะไม่เป็นแผลเป็นถ้าไม่แกะสะเก็ด ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ผิวหนังแทรกซ้อน
ผื่น ไอ ปวดหัว ไข้
การป้องกันโรคอีสุกอีใส
- โรคนี้ติดต่อได้ค่อนข้างง่ายจากการสัมผัส ควรแยกผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวปนกัน แต่สำหรับคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้วจะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิตก็จะไม่กลับมาเป็นอีก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น อันเนื่องจากการเป็นโรคนี้ หรือลดความเสี่ยงด้วยโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เป็นวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนเสริม คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกฉีดวัคซีนนี้ได้หากต้องการลดความเสี่ยงต่อโรคอีสุกอีใส
ควรฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 13 ปี ฉีดเพียง 1 เข็มป้องกันโรคได้
สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 4-8 สัปดาห์
*****หลังฉีดวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินนาน 6 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม******
***วัคซีนชนิดนี้ห้ามฉีดในหญิงตั้งครรภ์ คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ใช้ยาแอสไพรินอยู่ประจำ หรือใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงมานาน และผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
ยารักษาอีสุกอีใสสำหรับผู้ใหญ่ และ ยารักษาอีสุกอีใสสำหรับเด็ก
- ผู้ใหญ่ คนทั่วไปให้ทานยา Acyclovir 800 มก. วันละ 5 ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน เป็นเวลา 7 วัน และ สำหรับคนไข้ภูมิคุ้มกันบกพร่องให้ทานยา Acyclovir 800 มก. วันละ 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน นาน 7 วัน
- เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี น้ำหนักน้อยกว่า 40 กก. ให้ทานยา Acyclovir 200 มก. วันละ 4 ครั้ง ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน เป็น เวลา 5 วัน
อายุ 2-6 ปี ให้ทานยา Acyclovir 400 มก. วันละ 4 ครั้ง ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน เป็น เวลา 5 วัน
อายุมากกว่า 6 ปี ให้ทานยา Acyclovir 800 มก. วันละ 4 ครั้ง ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน เป็น เวลา 5 วัน
ทายาครีม acyclovir พร้อมกับเวลาที่กินยาได้เลยค่ะ
สำหรับผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่ไตทำงานบกพร่อง ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ และ ดูเอกสารกำกับยาเพิ่มเติม
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคอีสุกอีใส
- โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาทซึ่งอาจจะออกมาเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้
- โรคนี้ไม่มีของแสลง แต่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ มากๆ เพื่อจะได้มีภูมิต้านทานโรค และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ
FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/
บทความโดย ภญ.ยุพเรศ ภัทรอนันต์พงศ์