ตาปลา คือ ผิวหนังที่ด้านหนาขึ้น เกิดจากแรงกดหรือแรงเสียดทานที่เกิดมานาน มักจะเกิดที่บริเวณที่มีกระดูกนูน บริเวณที่พบบ่อยๆ คือตาปลาที่เท้า บริเวณฝ่าเท้า ใต้นิ้วเท้า
ตาปลาเป็นโรคที่ไม่ได้อันตราย ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนอะไร ยกเว้นคนที่เป็นโรคเบาหวานเท่านั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อักเสบรุนแรงได้
หลายคนคงอยากรู้แล้วใช่มั๊ยคะว่าสาเหตุของตาปลาเกิดจากอะไร
สาเหตุของตาปลาที่พบได้บ่อย ตาปลาที่เท้าเกิดจากการใส่รองเท้าที่คับเกินไป ไม่เหมาะกับรูปเท้าของเรา หรือลักษณะการเดินที่ไม่ถูกวิธี ทำให้มีแรงกดที่ฝ่าเท้า นิ้วเท้านานๆทำให้เกิดมีการสร้างพังผืดแข็งๆ ขึ้นมารองรับจุดๆนั้นแทนที่จะเป็นเนื้อธรรมดา
ตาปลามีอาการอย่างไร?
ตาปลาจะมีลักษณะคล้ายหูด ตาปลาและหูด มีลักษณะด้านๆ หนาขึ้นเป็นไตแข็ง ไม่มีอาการปวด แต่ว่าถ้าตาปลาโตขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจจะปวดได้ และส่วนใหญ่จะปวดเวลาใส่รองเท้าหรือว่าเดินเกิดแรงกดตรงที่เป็นตาปลา ตาปลาถ้าเอามีดกรีดตรงตาปลาจะไม่มีเลือดออก แต่ถ้าเป็นหูดจะมีเลือดออกมา (แต่ห้ามใช้มีดกรีดเองนะ เพราะจะทำให้เป็นแผลอักเสบและบวม โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานจะทำให้แผลติดเชื้อและหายยาก แนะนำว่าไม่ว่าจะหูดหรือตาปลาก็ใช้ยารักษาเหมือนกัน ไม่ต้องไปอยากรู้ว่าเป็นหูดหรือตาปลาโดยการผ่าดูนะจ๊ะ เตือนแล้วนะ)
วิธีการรักษาตาปลา ง่ายนิดเดียวค่ะ
1.เริ่มจากเปลี่ยนรองเท้าก่อนเลยค่ะ เลือกที่ขนาดพอดีกับเท้าไม่คับเกินไป และหาตัวเสริมเท้า ที่เป็นซิลิโคน หรือฟองน้ำ เพื่อวางบนรองเท้าไม่ให้ตาปลาเสียดสีกับรองเท้า
2.ทายากัดหูด หรือตาปลา คือใช้ยาตัวเดียวกันคือ ยาทาที่มีตัวยา salicylic acid วิธีใช้คือ ล้างเท้า หรือบริเวณที่เป็นตาปลาด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้ง ใช้วาสลีน หรือ ปิโตรเลียมเจลลี่ยี่ห้ออะไรก็ได้ ทารอบบริเวณตาปลา เพื่อกั้นไม่ให้ยา salicylic acid ไหลออกไปกัดเนื้อดีที่ไม่ได้เป็นตาปลา หลังจากนั้นป้ายยาลงไปบริเวณตาปลา วันละ 2-3 ครั้ง จนตาปลาหลุดออก
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ
FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/
สามารถติดตามหมอยาอยากเล่าได้ทาง youtubehttps://www.youtube.com/channel/UCVFagi33TD86ZSaWsPUXwew
บทความโดย ภญ.ยุพเรศ ภัทรอนันต์พงศ์