นิ่วในไตหรือนิ่วไต เป็นโรคที่พบได้กับทุกคน ทุกช่วงอายุนะคะ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-40ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นิ่วในไตจะเป็นได้ทั้งในไตข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และจะพบนิ่วในไตก้อนเดียวหรือหลายๆก้อนก็ได้
และที่สำคัญนิ่วในไตจะเป็นซ้ำได้หลายๆครั้ง
เรามาเริ่มดูกันนะคะว่าสาเหตุของนิ่วในไตเกิดจากอะไร
เกริ่นนิดนึงก่อนนะคะ ก้อนนิ่วที่อยู่ในไต ก็คือก้อนแคลเซียมผสมกับสารเคมีอื่น เช่นออกซาเลต กรดยูริก ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้สารเหล่านี้สูงขึ้นมากเกินไปก็จะทำให้เกิดนิ่วในไตได้
1.นิ่วในไตเกิดจากการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่นดื่มนมมากๆ หรือทานแคลเซียมเสริมในปริมาณที่มากเกินไป
2.นิ่วในไตเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินจึงทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง
3.นิ่วในไตเป็นภาวะแทรกซ้อนของคนที่เป็นโรคเกาต์ เพราะโรคเกาต์มีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
4.คนที่กินน้ำน้อย มีโอกาสที่เป็นนิ่วในไตได้เนื่องจากปัสสาวะมีความเข้มข้นของแคลเซียมมาก
นิ่วในไตมีอาการยังไง
อาการที่สงสัยว่าเป็นนิ่วในไตคือ
1.อาการปวดเอว ปวดหลัง ข้างใดข้างหนึ่ง ปวดแบบเสียดๆ หรือปวดบิดๆเป็นพักๆ
2.อาการคลื่นไส้ อาเจียน
3.ปัสสาวะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทรายออกมาในปัสสาวะ
เพิ่มเติมให้นิดนึงนะคะ ถ้าเป็นนิ่วท่อไต จะมีอาการปวดบิดในท้องรุนแรง
อาการแทรกซ้อนของนิ่วในไตคือ
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยไว้นานๆ และมีการติดเชื้อบ่อยๆทำให้เนื้อไตเสียกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้นะคะ
เพราะฉะนั้นเวลามีอาการที่สงสัยว่าเป็นนิ่วในไตให้รับไปตรวจที่โรงพยาบาลนะคะ
วิธีการวินิจฉัยนิ่วในไต
1.ตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก
2.ตรวจเลือด
3.เอกซเรย์
4.อัลตราซาวด์
5.เอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (intravenous pyelogram หรือ IVP)
วิธีการรักษานิ่วในไต
1.หลังจากตรวจแล้วหากเป็นนิ่วก้อนเล็ก อาจจะหลุดออกมาเองได้ แต่ถ้าก้อนใหญ่ก็ต้องผ่าตัดออกหรือจะใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL)
2.หากมีอาการปวดก็ให้ทานยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล หรือแก้ปวดเกร็งท้อง แก้ปวดบิดท้องเช่น hyoscine
3.หากมีอาการติดเชื้อต้องทานยาปฏิชีวนะ รักษาเหมือนกรวยไตอักเสบ เช่น norfloxacin ,levofloxacin (สำหรับคนที่ไม่แพ้ยากลุ่มนี้นะคะ หากแพ้ยาต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้งนะคะ)
4.สำคัญที่สุดก็คือหากทราบสาเหตุของการเกิดนิ่วในไตก็ต้องรักษาด้วยนะคะ เช่นเป็นนิ่วในไตจากเกาต์ก็ต้องรักษาเกาต์ด้วยนะคะ เกาต์เป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาลดกรดยูริกไว้นะคะ
สรุปสำหรับนิ่วในไตนะคะ
โรคนิ่วในไตถึงจะไม่แสดงอาการแต่ว่าตรวจเจอไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือว่าตั้งใจตรวจร่างกายก็ตามควรจะต้องรักษาอย่างจริงจังตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าจะผ่าตัดเอาออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่วขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์นะคะ แต่อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายได้นะคะ. และแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และลดอาหารที่มียูริก แคลเซียม และสารออกซาเลตสูงค่ะ
ใครอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดีลองเข้าไปอ่านแตะที่สีฟ้าตรงนิ่วในถุงน้ำดีนะคะ
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ
FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/
บทความโดย ภญ.ยุพเรศ ภัทรอนันต์พงศ์