fbpx
Saturday, 15 March 2025

ข้อเท้าแพลง จะรักษายังไง กินยาอะไร ประคบร้อนหรือเย็นดี

30 Jun 2020
10001

จริงๆแล้วข้อแพลงจะไม่ได้เกิดเฉพาะข้อเท้านะคะ แต่ว่าข้อที่เกิดข้อแพลงบ่อยๆที่สุดคือข้อเท้าแพลง

สาเหตุของข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลงเกิดจากเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบๆข้อมีการฉีกขาด อาจจะเนื่องจากการหกล้ม ข้อเท้าบิด เช่นจากการเดินตกจากพื้นต่างระดับ หรือข้อเท้าแพลงจากการถูกกระแทกโดยตรงที่ข้อเท้า เช่นจากการเล่นกีฬา

อาการของข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลงจะมีอาการเจ็บที่ข้อเท้าหลังจากการได้รับการบาดเจ็บทันที และจะรู้สึกเจ็บมากเวลาเคลื่อนไหว หรือใช้นิ้วกดตรงบริเวณข้อเท้าที่แพลง ข้อเท้าจะมีการบวม แดง ร้อน อาจจะพบรอยเขียวคล้ำ หรือฟกช้ำ เนื่องจากมีหลอดเลือดฝอยแตกร่วมด้วย

อาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด

การรักษาโดยใช้ยาและไม่ใช้ยา

เริ่มแรกหลังจากข้อเท้าแพลง ควรจะประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที หรืออาจจะแช่เท้าในน้ำเย็นไปเลย เพื่อลดการบวมและปวด ให้ทำทุก3–4 ชั่วโมง ใน 2 วันแรก หลังจากนั้น ควรประคบน้ำอุ่นจัดๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดการอักเสบ

ข้อเท้าแพลง

ส่วนการใช้ยา

ใช้ยาทาแก้ปวดลดอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)เช่น ตัวยา diclofenac gel,piroxicam gel  เพื่อลดการอักเสบ บวม แดง ร้อน

วิธีการทาให้ทายาวนไป ไม่บีบไม่นวด เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น และใช้ ซัพพอร์ตใส่ข้อเท้าควรจะเลือกขนาดที่ใส่แล้วพอดี ไม่แน่นเกินไป และยกข้อเท้าให้สูง เวลานอนให้ใช้หมอนรองเท้าให้สูง หรือเวลานั่งให้ยกเท้าวางบนเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง ไม่ให้ห้อยเท้า

ส่วนยากินแนะนำกินยาแก้ปวดลดอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ตัวยา meloxicamหรือ ตัวยา etoricoxib

ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หรือสงสัยว่ามีกระดูกหักด้วย ควรจะไปโรงพยาบาล เพื่อ เอกซเรย์ดูว่ากระดูกหักหรือไม่ เพราะว่าอาการข้อเท้าแพลงกับกระดูกหักจะมีอาการคล้ายๆกันอาจจะแยกอาการภายนอกไม่ได้ จึงควรเอกซเรย์ดูอย่างละเอียดนะคะ

ปกติแล้วหากเป็นข้อเท้าแพลงจะมีอาการบวมและ ปวดลดลงภายใน 1-2สัปดาห์ และควรหายขาดใน 3-4สัปดาห์ อันนี้จะเป็นระยะเวลาสำหรับคนที่พักผ่อน พักเท้า ไม่เดินมาก แต่หากเดินมาก นั่งห้อยเท้า อาจจะมีอาการบวมเป็นๆ หลายๆ เป็นเรื้อรังอาจเป็นเวลา 2-3 เดือนถึงจะหายเลยก็เป็นไปได้

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ

ไข่ดัน

FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/

สามารถติดตามหมอยาอยากเล่าได้ทาง youtubehttps://www.youtube.com/channel/UCVFagi33TD86ZSaWsPUXwew

บทความโดย ภญ.ยุพเรศ  ภัทรอนันต์พงศ์

เลขใบประกอบวิชาชีพ ภ.24887

แหล่งข้อมูล ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

ติดต่อได้เลยค่ะ