ฟ้าทะลายโจรกินรักษาโควิดต้องกินยังไง เมื่อติดโควิด อาการไม่รุนแรง
วันนี้หมอยาอยากเล่าจะมาขอเล่าเรื่องที่ฟ้าทะลายโจรที่มีคนมาหาซื้อในร้านยาทุกวันนะคะ ก่อนอื่นต้องบอกย้ำอีกครั้งนะคะว่าไม่แนะนำให้ทานทุกวันเพื่อป้องกันนะคะ ให้ทานเวลาที่มีอาการ ไข้ เจ็บคอ หรือท้องเสียเท่านั้นนะคะ
เริ่มจากทำความรู้จักกับฟ้าทะลายโจรกันก่อนนะคะ
ฟ้าทะลายโจร หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (วงศ์ Acanthaceae)
ฟ้าทะลายโจรจัดอยู่ในกลุ่มยาเย็น เวลาเรามีไข้ ไอ เจ็บคอ ในร่างกายจะมีความร้อนเยอะ ดังนั้นจึงใช้ฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ได้
ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุก สามารถปลูกได้เองในประเทศไทย แนะนำให้ปลูกในที่ที่เป็นดินร่วน และน้ำไม่ขัง มีระบบการระบายน้ำได้ดี และฟ้าทะลายโจรปลูกได้จากทั้งการเพาะเมล็ดและการปลูกจากต้นกล้า ส่วนการจะเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรมาใช้ จะต้องเก็บใบที่มีอายุต้นประมาณ 3-6 เดือน ช่วงออกดอก เก็บโดยการตัดยอดอ่อน ลงไปประมาณ 1 ฝ่ามือ ซึ่งเป็นช่วงที่มีสารสำคัญเยอะที่สุด และเก็บต้นรอโตต่อไปจนออกดอกเริ่มบานก็เก็บได้อีกครั้ง จะเก็บวนไปแบบนี้ได้แค่ 2-4 ครั้งเท่านั้นนะคะ
แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการระบาดหนัก และ เตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การกินฟ้าทะลายโจรจากที่เราปลูกอาจจะไม่ทราบปริมาณสารสำคัญที่จะใช้ในแต่ละครั้งจึงมีการวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง
จากการวิจัยพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์( Andrographolide)มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ในเซลล์เนื้อเยื่อ แต่ไม่ยับยั้งการเข้าเซลล์
กลไกของฟ้าทะลายโจรที่เกี่ยวข้องในการรักษาโควิด-19 คือ
-ยับยั้งการเพิ่มของจำนวนไวรัส ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการเข้าเซลล์หรือกำจัดไวรัส
-ลดการอักเสบ ซึ่งมีผลในการลดไข้ ลดอาการไอ เจ็บคอ อาการหวัด
-ปรับภูมิคุ้มกัน
สาธารณะสุข ไม่แนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันโรค แต่ให้รับประทานเพื่อรักษา
โดยขนาดรับประทานผู้ป่วยเป็นหวัด ธรรมดา ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร โดยดูที่ปริมาณสารสำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์( Andrographolide) 60 มก./วัน ติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน
ตอนนี้ มีคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เกี่ยวกับผลการวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยกรณีดังนี้
1.ติดเชื้อโควิด-19แล้ว แต่ยังไม่มีอาการ
2.ติดเขื้อโควิด-19 แต่มีอาการไม่รุนแรง คือไม่น่าจะมีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง
3.ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณีที่รอการรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
4.ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นไปได้ว่าจะติดเชื้อโดยที่ยังไม่ต้องรอผลตรวจหาไวรัสเริ่มทานได้เลย
ขนาดแนะนำให้ทานสำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่น้ำหนักตั้งตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป
ฟ้าทะลายโจรโดยดูที่ปริมาณสารสกัด สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ให้ใช้ขนาด 180 มก./วัน แบ่งทานวันละ 3 ครั้ง ให้รับประทานนาน 5 วัน ไม่ให้เกิน 5 วันนะคะ
หากเด็กโต ให้ใช้ขนาด 3-3.5 มก./น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง
หากสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าแต่ละยี่ห้อมีสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) อยู่เท่าไหร่ให้ดูจากข้างกล่อง ข้างขวด ของแต่ละยี่ห้อได้เลยนะคะ หากฉลากไม่ระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีรักษาโควิด-19 นะคะ
ล่าสุดตอนนี้มีข่าวพบฟ้าทะลายโจรปลอมแล้วนะคะ ตามข่าวมติชน
ใครที่กำลังจะหาซื้อทานแนะนำให้ตรวจสอบเลขที่ขึ้นทะเบียน อย. หรือสอบถามกับเภสัชกร ใกล้บ้านก่อนนะคะ
ถ้าฟ้าทะลายโจรแบบสกัด ฉลากก็จะบอกว่ามีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) เท่าไหร่แน่นอน ที่ตอนนี้มีขายอยู่ จะเป็นในหนึ่งแคปซูลจะมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 20 มก./แคปซูล ให้กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
ถ้าเป็นฟ้าทะลายโจรผงบด ถ้าฉลากเขียนว่าปริมาณ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)ไม่น้อยกว่า 12 มก./แคปซูล ให้กินครั้งละ 5 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
ถ้าเป็นฟ้าทะลายโจรผงบด ถ้าฉลากเขียนว่าปริมาณ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)ไม่น้อยกว่า 8 มก./แคปซูล ให้กินครั้งละ 8 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
ยาฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ว่าเป็นสมุนไพรที่ทุกคนสามารถทานได้นะคะ เรามาดูว่าใครบ้างที่ห้ามทาน และใครบ้างที่ควรระวังในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร
-ยาฟ้าทะลายโจรห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร อาจจะมีผื่นขึ้น
-ยาฟ้าทะลายโจรห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และ ให้นมบุตร
ส่วนผู้ที่ต้องระวังในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร คือ
-ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือด
-ผู้ที่ทานยาลดความดันโลหิตสูง เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันกับยาฟ้าทะลายโจร
-ผู้ที่ทานยาที่ผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึมผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้ง CYP1A2, CYP2C9,CYP3A4
ยาที่ผ่าน CYP1A2 เช่น Clozopine,fluvoxamine,Imipramine,Olanzapine,Ciprofloxacin,Caffeine,Theophylline,Warfarin
ยาที่ผ่าน CYP2C9 เช่น
Diclofenac,Ibuprofen,Meloxicam,S-naproxen,Celecoxib,Glyburide,Glibenclamide,Glipizide,Glimepiride,Losartan,Irbesartan,Phenytoin,Rosiglitazone,Tamoxifen,S-warfarin,Amitriptyline,Fluoxetine
ยาที่ผ่าน CYP3A4 เช่น Clarithromycin,Erythromycin,Atorvastatin,Simvastatin,Lovastatin
ที่มา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ
FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/
บทความโดย ภญ.ยุพเรศ ภัทรอนันต์พงศ์