เหตุผลที่ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องหมั่นดูแลสุขภาพเท้า เพราะว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ประสาทรับความรู้สึกจะทำงานได้ไม่ดี ความเสื่อมจะค่อยๆเป็นค่อยๆไปโดยผู้ป่วยอาจจะไม่สังเกต บางคนจะมีอาการชา ปวดแสบ หรือเจ็บ ดังนั้นเวลาที่มีบาดแผลขึ้นกับเท้า ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็กจากรองเท้ากัด จากการเหยียบของมีคม ก็จะไม่เจ็บ จนกระทั่งแผลใหญ่ขึ้นหรือมีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อลุกลามมากขึ้น หรือ เกิดเนื้อตาย สุดท้ายอาจต้องถูกตัดเท้า หรือ ขา
วิธีการดูแลสุขภาพเท้า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
- วิธีที่ดีที่สุดคือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคไต ประสาทตาเสื่อม เส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม โดยการออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง และงดสูบบุหรี่
- เลือกรองเท้า
รองเท้าต้องนิ่ม ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป รองเท้าควรช่วยให้น้ำหนักตัวกระจายลงทั่วๆเท้า ไม่ลงจุดใดจุดหนึ่ง
ตอนบ่ายเท้าจะบวมขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในตอนบ่าย
- ต้องตรวจดูเท้าทุกวัน
ต้องดูว่ามีอาการบวม ปวด มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง ทั้วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกนิ้ว รอบเล็บเท้า หากผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
ถ้าผิวแห้ง อาจทำให้คัน เกา เกิดรอยแตก ติดเชื้อง่าย ให้ทาครีม urea บางๆ เพื่อให้ความชุ่มชื้น โดยเว้นซอกเท้าไม่ต้องทา เพื่อป้องกันการหมักหมมซึ่งอาจเกิดเชื้อราได้
- ผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดเชื้อราที่เล็บง่าย ถ้าเกิดเชื้อราต้องรีบรักษา
- ไม่ควรแช่เท้าในน้ำร้อนเกิน 37 องศา
ไม่ควรแช่เท้านานเกินกว่า 5-10 นาที และควรใช้ปรอทวัดอุณหภูมิน้ำ ไม่ควรใช้มือลองวัด เพราะ ประสาทรับความรู้สึกไม่ดี อาจทำให้เท้าพอง เป็นแผลได้
- เช็ดเท้าให้แห้งสนิทเสมอ โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า
- ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
- ไม่ควรใช้ตะไบ มีดโกน สารเคมีใดๆ กับเท้า
- ดูภายในรองเท้าก่อนใส่ทุกครั้ง ว่ามีเศษกรวด ตะปู อยู่ในรองเท้าหรือไม่
อย่าตัดเล็บสั้นจนเกินไป ควรตัดเล็บให้ตรงเสมอปลายนิ้ว ไม่ควรตัดเล็บโค้งเข้าจมูกเล็บ หรือ ตัดลึกเกินไป ถ้ามีเล็บขบต้องปรึกษาแพทย์
- ถ้ามีผิวหนังหนาหรือตาปลา ควรตัดบางๆ ทุก 6-8 สัปดาห์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าตัดเองเพราะอาจทำให้เกิดบาดแผล
- หากเกิดบาดแผล ต้องรีบรักษาเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม
หากคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคเบาหวาน ลองอ่านและแชร์บทความนี้ให้พวกเขาอ่านกันนะคะ