สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังคงรู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องระวังการทานยา และอาหารอะไรบ้าง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหลายคนที่สงสัยว่าแล้วสมุนไพรหละทานได้หรือไม่ ปลอดภัยรึป่าว เพราะว่าหลายๆคนจะเข้าใจว่าสมุนไพรไทย ปลอดภัยทานได้ ไม่มีข้อห้ามใช้ แต่จริงๆแล้วสมุนไพรไทยหลายชนิดเลยที่ห้ามทาน หรือว่าควรจำกัดการทานในผู้ป่วยโรคไต
เรามาเริ่มดูกันเลยนะคะว่าสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการทาน เช่น ยาแผนไทยที่มีส่วนประกอบของการบูร เทียนดำ ชะเอมเทศ หรือดอกจำปา สมุนไพรเหล่านี้เมื่อใช้ปริมาณมาก หรือใช้เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ ดังนั้นแล้วหากผู้ป่วยโรคไตจะทานยาหอมก็ควรเลือกสูตรที่มีปริมาณการบูรไม่สูงมาก หรือไม่เลือกที่ส่วนผสมของตะไคร้เครือ เพราะจะเพิ่มโอกาสการเกิดพิษต่อไต แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ทานเลยก็จะดีที่สุดนะคะ
ยกตัวอย่างสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดพิษต่อไตแบบเฉียบพลัน สมุนไพรที่คนเป็นโรคไตห้ามกินเช่น ยากษัยเส้น ,ประสะกานพลู,ยาหอมนวโกฐ,ยาหอมทิพโอสถ,ยาธาตุบรรจบ,ยาธาตุอบเชย,ยามันทธาตุ,ยามหาจักรใหญ่,ยาธรณีสันฑะฆาต,ยาเลือดงาม,ยาปราบชมพูทวีป
นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่3 ขึ้นไป หรือจะถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่คนเป็นโรคไตห้ามกินก็ว่าได้ เพราะจะว่าไปเราสามารถทานอย่างอื่นแทนได้เพื่อความปลอดภัย ได้แก่
1.ยาตำรับที่เข้าสูตรยาดำ (cape aloe) เป็นยาระบายควรใช้ปริมาณน้อยที่สุด และ ไม่ควรใช้ประจำ แต่ว่าว่านหางจระเข้สายพันธุ์ที่ใช้ในไทย คือ aloe Vera สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
2.ปอบิดหรือปอกะบิด
3.มะขามแขก เมื่อใช้ขนาดสูงหรือเป็นเวลานาน จะทำให้ตับและไตวายเฉียบพลันได้ ขนาดแนะนำใช้ไม่เกิน 800-1200 มิลลิกรัมต่อวัน (เพิ่มเติมนะคะ มะขามแขกเป็นยาระบายในกลุ่มกระตุ้นลำไส้ ซึ่งเมื่อใช้ติดต่อกันนานๆจะทำให้ลำไส้ขี้เกียจ ไม่สามารถบีบตัวได้เอง จะต้องใช้มะขามแขกกระตุ้นลำไส้เพื่อให้ขับถ่ายตลอด ร่ายกายจะไม่สามารถขับถ่ายได้เอง ดังนั้นแล้วจึงไม่แนะนำให้ทานมะขามแขกเพื่อช่วยขับถ่ายนะคะ)
4.เถาวัลย์เปรียง ที่ใช้บรรเทาอาการปวด ไม่แนะนำให้ใช้ในขนาดสูงหรือใช้เป็นประจำ
5.หญ้าไผ่น้ำ
6.เครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากมีคาเฟอีน ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทานในขนาดสูง เพราะมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือควบคุมไม่ได้
7.african mango ที่ใช้สำหรับลดน้ำหนัก มีรายงานว่าทำให้เกิดไตวายระยะสุดท้ายในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
8.หญ้าหนวดแมว ที่ใช้สำหรับขับปัสสาวะ แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไตบกพร่องและโรคหัวใจ เนื่องจากหญ้าหนวดแมวมีปริมาณของโพแทสเซียมสูง และอาจลดการขับโพแทสเซียมทางไต
9.สมุนไพรหรืออาหารเสริมที่มีปริมาณโพแทสเซียมหรือฟอสเฟตสูง หรือมีวิตามินดี ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะ 3 ขึ้นไป เช่น น้ำลูกยอ,alfalfa,เกสรผึ้ง,น้ำมันตับปลา,น้ำมันจมูกข้าว,น้ำรำข้าวและต้นอ่อนข้าวสาลี
และที่สำคัญนะคะหากจะเลือกทานสมุนไพรก็ควรเลือกทานที่มีเลขทะเบียนอย.หรือเลขทะเบียนยาแผนโบราณ เนื่องจากหากทานสมุนไพรที่ไม่มีทะเบียนอาจจะมีการปลอมปนสเตียรอยด์หรือปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา หรือปนเปื้อนโลหะหนักเช่นแคดเมียมได้
สรุปนะคะ
หากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องการที่จะทานยาสมุนไพรควรจะปรึกษาเภสัชกรหรือแจ้งเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และหากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ 3ขึ้นไป ควรที่จะหลีกเลี่ยงสมุนไพรที่มีส่วนผสมของไคร้เครือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ดี อี หรือ ซี ในปริมาณสูง รวมถึงสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่นหญ้าหนวดแมว และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย เช่นมะขามแขก หรือสมุนไพรล้างลำไส้ เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเสี่ยงต่อการเกิดไตวายเฉียบพลัน แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความจำเป็นที่ต้องใชสมุนไพรก็ควรใช้ในขนาดที่น้อยที่สุด และใช้ในระยะเวลานั้นๆนะคะ
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยกดลิงค์เข้ามาคุยกันได้นะคะ
FB: https://www.facebook.com/rukyaphama8/
บทความโดย ภญ.ยุพเรศ ภัทรอนันต์พงศ์